เมื่อวาน (วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม 2559 เวลา 15.19 น.) นายเสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA Mr.XuChengdin ฉือเฉินบิน ประธานบริษัท CYG SUNRI Co,LTD และนายชัย ธนิชานันท์ ประธานบริษัท RENEWABLE ENERGY จำกัด ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดสถานีไฟฟ้าอัจฉริยะหนองกี่ ตามมาตรฐาน IEC 61850 โดยมี นายกิตติ จริยมานะ ผู้อำนวยการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 3 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จ.นครราชสีมา กล่าวรายงานพร้อมด้วย นายกมลชนก วิชัยสืบ รองผู้ว่าการสายงานการไฟฟ้า ภาค 2 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) คณะผู้บริหารและพนักงาน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมพิธี ณ สถานีไฟฟ้าหนองกี่ อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA ก่อสร้างสถานีไฟฟ้าหนองกี่ ตั้งอยู่ที่ ต.ทุ่งกระตาดพัฒนา อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ ก่อสร้างภายใต้โครงการพัฒนาสายส่งและสถานีไฟฟ้าระยะที่ 5 เริ่มจ่ายไฟเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2544 โดยทำการจ่ายกระแสไฟฟ้าจำนวน 8 วงจร ครอบคลุมพื้นที่ อ.นางรอง (บางส่วน) ,อ.หนองกี่, อ.หนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ อ.หนองบุญมากและพื้นที่บางส่วนของ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา มีโหลดสูงสุด อยู่ที่ประมาณ 53 เมกกะวัตต์ มีผู้จำหน่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก หรือ VSPP ที่ขายไฟขนานเข้าระบบจานวน 5 แห่ง รวมประมาณ 24 เมกกะวัตต์ มีผู้ใช้ไฟประมาณ 66,000 ราย
ปัจจุบันสถานีไฟฟ้าอัจฉริยะหนองกี่ ตามมาตรฐาน IEC 61850 ได้ดำเนินการทดลองใช้งานอย่างเต็มรูปแบบแล้วเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2559 เป็นเวลาประมาณ 3 เดือนมาแล้ว ด้วยงบประมาณดำเนินการก่อสร้างประมาณ 22 ล้านบาท เป็นสถานีไฟฟ้าอัตโนมัติที่ทำงานตามกรอบมาตรฐาน IEC 61850 ครบถ้วนทุกฟังก์ชันเป็นที่แรกของประเทศไทย การดำเนินการปรับปรุงอุปกรณ์ป้องกันและระบบควบคุมที่สถานีไฟฟ้าหนองกี่แล้วเสร็จทั้งหมดและมีความพร้อมในการใช้งาน
PEA มุ่งมั่นพัฒนาระบบไฟฟ้าเพื่อก้าวเข้าสู่โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะแห่งอนาคต หรือ PEA Smart GRID พัฒนาอุปกรณ์ป้องกันและระบบควบคุมภายในสถานีไฟฟ้าหนองกี่ โดยร่วมมือกับบริษัท CYG SUNRI CO., LTD และบริษัท TC RENEWABLE ENERGY CO., LTD ในการติดตั้งและทดสอบอุปกรณ์ป้องกันและระบบควบคุมที่สถานีไฟฟ้าหนองกี่ อำเภอหนองกี่ จ.บุรีรัมย์ ให้เป็น SMART Substation ตามมาตรฐาน IEC 61850 ในโครงการ Pilot Substation เปลี่ยนสัญญาณทุกอย่างจาก Analog ให้เป็น Digital ส่งผลให้การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่แตกต่างกันหรือซ้ำซ้อน สามารถรองรับการเชื่อมต่อสื่อสารข้อมูลของอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านเครือข่ายได้ง่ายขึ้นและไร้ขีดจำกัด โดยจะทำงานร่วมกันเป็นโครงข่ายทั้งระบบ สามารถวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาเหตุการณ์ไฟฟ้าขัดข้องได้ รวดเร็ว ถูกต้องและแม่นยำ ทั้งนี้อุปกรณ์มาตรฐาน IEC61850 ทำให้อุปกรณ์ระบบควบคุมและระบบป้องกันทำงานได้อย่างสัมพันธ์กันมากขึ้น เวลาเกิดการลัดวงจรในระบบจำหน่าย ก็จะมีพื้นที่ไฟดับน้อยลงและสามารถใช้ฟังก์ชั่นประยุกต์ของอุปกรณ์ระบบควบคุมภายในสถานีไฟฟ้า ในการวิเคราะห์หาจุดเกิดเหตุข้อขัดข้อง และแยกแยะส่วนที่ขัดข้องนั้นออก พร้อมทั้งจ่ายไฟกลับคืนในส่วนที่เป็นปกติได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการจัดหาอุปกรณ์ในการซ่อมแซมบำรุงรักษาสะดวกขึ้นเพราะอุปกรณ์แต่ละผลิตภัณฑ์สามารถเชื่อมต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ รวดเร็วเพราะใช้สาย Fiber Optic รวมทั้งลดต้นทุนการจัดหาสายทองแดงในปริมาณมาก
นอกจากนี้ยังสามารถรองรับกับโครงการ Smart Grid ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตในรูปแบบของการจัดการโครงข่ายไฟฟ้าแบบแหล่งผลิตกระจายตัว หรือ Distributed Generation Resources จากพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ เช่น เซลล์แสงอาทิตย์ พลังงานลม และชีวมวลได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้การรณรงค์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นไปอย่างมีประสิทธิผลลดปัญหาภาวะโลกร้อน และสอดคล้องตามมาตรการการใช้พลังงานอย่างประหยัดของประเทศไทย